สำหรับโรคหินปูนเกาะกระดูกหูนั้น เกิดจากหินปูนที่เจริญผิดปกติในหูชั้นกลาง โดยไปเกาะระหว่างฐานของกระดูกโกลนกับช่องรูปไข่ ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน ทำให้กระดูกโกลนนั้นไม่สามารถสั่นสะเทือน
เพื่อตอบสนองต่อคลื่นเสียงได้ตามปกติ เสียงจึงผ่านจากหูชั้นกลางเข้าสู่หูชั้นในได้ลดลง ทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นในด้วยก็ได้หรือหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นกลางนั้นปล่อยเอนไซม์บางชนิดเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้เกิดมีเสียงดังในหู เวียนศีรษะและบ้านหมุนได้
โรคหินปูนเกาะกระดูกหูนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแต่พอจะมีงานวิจัยที่พอจะบอกสาเหตุของการเกิดโรคหินปูนเกาะกระดูกหูได้ดังนี้
1.)การถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ได้จากกรรมพันธุ์ โดยถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกเป็นโรคนี้คือร้อยละ 25 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกเป็นโรคนี้จะสูงถึงร้อยละ 50
2.)เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์
3.)เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด
ถ้าสาเหตุมาจากฮอร์โมนตอนตั้งครรภ์ แสดงว่าผู้หญิงมีโอกาสพบบ่อยกว่าผู้ชายสองเท่า และมักจะพบในคนไข้ที่มีอายุ 20-40 ปี
สำหรับอาการของโรคหินปูนเกาะกระดูกหูที่อาจพบได้มีดังต่อไปนี้
1.)การได้ยินลดลงหรือที่ผู้ป่วยมักเรียกว่าหูอื้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป
2.)ผู้ป่วยบางรายอาจมีเสียงดังในหูร่วมด้วย ซึ่งเสียงดังในหูมักจะดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโรคเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
3.)อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน
4.)ผู้ป่วยบางรายอาจมีการสูญเสียการได้ยินแบบประสาทเสียงเสียร่วมด้วย โดยมักจะเสียที่ความถี่สูงก่อน แล้วจึงมาเสียที่ความที่ต่ำ
การรักษาโรคหินปูนเกาะกระดูกหูจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีผ่าตัดกับไม่ผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัดก็คือถ้ายังหูอื้อ ยังเป็นน้อยก็คอยดูอาการไปก่อนได้จะกว่าหูอื้อจะเป็นมากขึ้นอาจจะพิจารณาใส่ เครื่องช่วยฟัง วิธีนี้ก็เหมาะกับผู้ป่วยที่โรคเยอะ อายุมากไม่เหมาะกับการทำผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถรับภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการผ่าตัดได้ เช่น หน้าเบี้ยว ซึ่งการใส่เครื่องช่วยฟังไม่ได้เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แค่ขยายเสียงให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น
แต่ไม่ได้หยุดโรคที่เป็น และอีกวิธีหนึ่งก็คือการผ่าตัด ส่วนใหญ่โรคหินปูนเกาะกระดูกหูจะเกิดที่กระดูกโกลน เราก็จะผ่าตัดเอากระดูกโกลนออก และใส่กระดูกเทียม ซึ่งการผ่าตัดจะเอากระดูกออกทั้งแท่งหรือบางส่วนก็ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา ในบางรายการได้ยินอาจกลับมาแทบใกล้เคียงกับปกติ และประมาณครึ่งหนึ่งเสียงในหูก็จะหายไปด้วย
วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดรักษาโรคหินปูนเกาะกระดูกหูมีดังนี้
1.)หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรนอนทับหูข้างที่ผ่า และควรงดทำความสะอาดภายในช่องหูจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์
2.)หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือการเปลี่ยนแปลงแรงดันอย่างรวดเร็ว เช่น การดำน้ำ การขึ้นเครื่องบินหรือการขึ้นเขาอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน เพื่อป้องกันการหลุดของกระดูกหูเทียมและการรั่วซึมของน้ำหูชั้นใน
3.)หลีกเลี่ยงสถานที่เสียงดัง หากไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรใส่เครื่องป้องกันทุกครั้ง เช่น ปลั๊กอุดหูหรือที่ครอบหู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระแทกผ่านกระดูกหูเทียมไปยังหูชั้นใน ซึ่งอาจทำให้หูหนวกได้